สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๗๒๙  ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้

วรรคสอง บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย

 

วรรคสาม บุคคลซึ่งจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ตามมาตรา ๑๖๗๐ จะเป็นพยานในการทำบัญชีใด ๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552 ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก

ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7448/2544 หลังจากที่ ศ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าการจัดการมรดกยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีที่ดินอีกสองแปลงที่ยังไม่แบ่งปันแก่ทายาท ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก อ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วและผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลตามกำหนด ดังนี้เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่ ส. เป็นผู้จัดการมรดกยังมีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันคือที่ดินอีก 2 แปลง และไม่ปรากฏว่า ส. ได้จัดการโอนที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แม้บรรดาทายาทอื่นได้ไปให้ถ้อยคำสละไม่รับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและยินยอมให้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้คัดค้านก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้วโดยผู้ร้องมิได้ร่วมตกลงด้วย จึงไม่ผูกพันผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่ายังมีทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งปันไม่แล้วเสร็จในขณะที่ ส. ผู้จัดการมรดกยังมีชีวิตอยู่และมีเหตุต้องจัดการทรัพย์มรดกต่อไป

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และมาตรา 1729 จะกำหนดให้ผู้ร้องต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุไว้ และรูปแบบบัญชีจะต้องทำตามแบบในมาตรา 1729 ก็ตาม แต่ขณะผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกต่อจาก ส. มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่ดิน 2 แปลงเท่านั้นและผู้ร้องได้ทำบัญชีไว้แล้ว แม้จะไม่ทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดก็ตาม เมื่อทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องจะต้องจัดการมีเพียง 2 รายการ และมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามรูปแบบและภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1729 กรณียังไม่พอถือว่าผู้ร้องมิได้ทำบัญชีทรัพย์สินอันเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก

บทความที่น่าสนใจ

-หากศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคนคนใดตายจะต้องดำเนินการอย่างไร

-พินัยกรรมห้ามโอนทรัพย์มรดก

-สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

-เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

-ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเกินส่วนของตน

-เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้ต้องฟ้องลูกหนี้ภายใน1ป